คำแนะนำการฝึกซ้อมสำหรับผู้ที่มีภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์

คำแนะนำการฝึกซ้อมสำหรับผู้ที่มีภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์

Jiang Yanqing

“ถ้าไม่ใช่เพราะผมมีความเคยชินกับการออกกำลังกายเป็นประจำมาอย่างยาวนานควบคู่กับการมีโอกาสได้ใช้งานสมาร์ทวอทช์ ผมคงไม่สามารถตรวจพบความแปรปรวนของอัตราการเต้นของหัวใจได้อย่างทันท่วงที ซึ่งการตรวจพบในครั้งนี้ทำให้ผมเจอภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์ที่เป็นสาเหตุหลักของปัญหาได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ดังนั้นไม่ว่าเป้าหมายในชีวิตของคุณจะเป็นอย่างไร หากคุณใส่ใจในสุขภาพของคุณ จงอย่าหยุดออกกำลังกาย เพราะมันมีส่วนช่วยให้เรารู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงในร่างกายได้ไวมากขึ้น”

ผู้เขียน: Jiang Yanqing

เช้าตรู่ของฤดูร้อนปี 2020 ผมได้ออกไปวิ่งตามปกติ แผนเดิมที่วางแผนไว้คือวิ่งบนเส้นทางภูเขา 10K อากาศที่ร้อนชื้นทำให้เหงื่อเปียกชุ่มไปทั้งตัวจนไม่รู้สึกถึงปริมาณเหงื่อที่ออกมาเยอะผิดปกติ ผมเริ่มมีอาการหอบและวิงเวียน ผมวิ่งไปแค่เพียง 3 กม. ก็เริ่มรู้สึกว่าไปต่อไม่ไหว แต่ละก้าวของผมเป็นไปอย่างเชื่องช้า ท้ายที่สุด ผมรู้สึกเหมือนทหารที่กำลังพ่ายแพ้ ผมหันหลังและมุ่งหน้ากลับไปยังจุดเริ่มต้นอย่างช้าๆ ตั้งแต่วันนั้นอาการของผมก็แย่ลงเรื่อยๆ จนผมสวมนาฬิกาสมาร์ทวอทช์ Garmin Fenix6 ผมจึงพบว่าอัตราการเต้นของหัวใจขณะพักของผมสูงกว่าการเต้นในสภาวะปกติถึงสองเท่า ผมจึงตัดสินใจเดินทางไปโรงพยาบาล เพื่อตรวจหาสาเหตุ ผมรอการวินิจฉัยเป็นเวลาเดือนกว่าๆ จึงพบว่ามีสาเหตุมาจากภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์ (โรคเกรฟส์)

โรคเกรฟส์เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์ที่พบได้บ่อยที่สุด ซึ่งเกิดมาจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน แอนติบอดีในเลือดจะกระตุ้นให้ต่อมไทรอยด์หลั่งฮอร์โมนออกมามากเกินไป ซึ่งส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาทางสรีรวิทยาหลายอย่าง เช่น ความร้อนในร่างกาย ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ หัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ ความอยากอาหารเพิ่มขึ้นแต่น้ำหนักกลับลดลง ท้องเสีย นอนไม่หลับ ภาวะเกลือแร่ในร่างกายไม่สมดุล (โพแทสเซียมในเลือดต่ำ) ต่อมไทรอยด์มีขนาดโตขึ้นอย่างผิดปกติ ตาโปน มือสั่น ฯลฯ แม้ว่าภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ แต่สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์นั้น ส่วนใหญ่เกิดจากแรงกดดันทางจิตใจ (นอกจากนี้ยังมีสาเหตุเฉพาะอื่นๆ เช่น การฝึกซ้อมที่หนักเกินไปของนักกีฬาก็อาจทำให้เกิดภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์ได้) โดยทั่วไปแล้ว เพศหญิงมีแนวโน้มที่จะพบภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์ได้มากกว่าเพศชาย ความเสี่ยงของการเกิดโรคเกรฟส์จะเพิ่มขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยเรียนและวัยทำงานที่ต้องเผชิญความเครียดในสังคม เราจึงอาจจัดให้โรคนี้อยู่ในกลุ่มโรคทางสังคมได้เช่นกัน

กลับมาที่เรื่องราวของผม อาการหลักๆ ของผมคือหัวใจทำงานผิดปกติและมีอาการนอนไม่หลับ อัตราการเต้นของหัวใจสูงและการเต้นที่ผิดจังหวะทำให้หัวใจห้องขวาหนาตัวผิดปกติ เกิดความอ่อนล้า (หดตัวได้ไม่สมบูรณ์) ทั้งยังเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาความดันโลหิตในปอดสูงในระดับปานกลาง ซึ่งนี่ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ผมหายใจหอบง่าย ระบบเมแทบอลิซึมพื้นฐานของผมทำงานหนักขึ้นอย่างรวดเร็ว ในช่วงที่มีภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์นั้น น้ำหนักของผมเคยลดลงถึง 6 กก. ซึ่งน่าจะเป็นช่วงที่ผมมีน้ำหนักน้อยที่สุดนับตั้งแต่เรียนจบมัธยมต้น

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ ผู้อ่านบางคนอาจคิดว่าน้ำหนักตัวที่เบานั้นถือเป็นข้อได้เปรียบสำหรับการวิ่งทางไกลไม่ใช่หรือ ตัวเบากว่าก็ทำให้วิ่งได้เร็วขึ้นนี่ ซึ่งในความจริงนั้น มันไม่ใช่เลย การลดน้ำหนักเพื่อเพิ่มสมรรถภาพทางกีฬา คือการลดปริมาณไขมันในร่างกายหรือเพิ่มมวลกล้ามเนื้อเล็กน้อย แต่ภาวะน้ำหนักลดที่เกิดจากการเจ็บป่วยมักจะทำให้คุณสูญเสียมวลกล้ามเนื้อไป ในช่วงที่ผมเจ็บป่วยอยู่หลายเดือนนั้น ผมแทบจะไม่สามารถวิ่งเกิน 4K ได้อย่างต่อเนื่องเลย หลังจากปรับสภาพ ทดลอง และฝึกซ้อมมาเป็นระยะเวลาหนึ่งปี ผมก็กลับมาลงสนามอีกครั้งที่งาน XTERRA Taiwan Triathlon เมื่อปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 และเป็นการกลับสู่สนามอย่างเป็นทางการในฐานะรองชนะเลิศ ที่จริงแล้ว เบื้องหลังของความสำเร็จนั้น ผมมีประสบการณ์ ความผิดพลาด ความล้มเหลว และได้เรียนรู้อะไรต่างๆ มากมาย ผมหวังว่ามันจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านที่กำลังต่อสู้กับภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์ และผมก็อยากจะชวนให้ผู้อ่านทุกท่านที่ตอนนี้กำลังมุ่งเน้นไปที่การฝึกซ้อมเพียงอย่างเดียว เริ่มหันมารับฟังเสียงจากภายในเพื่อให้เรามีสุขภาพทางจิตที่แข็งแรงขึ้น

ภาพจาก XTERRA ไต้หวัน

1. ติดตามอัตราการเต้นของหัวใจและให้ความสำคัญกับสภาวะทางสรีรวิทยาของคุณมากขึ้น

อัตราการเต้นของหัวใจสูงที่เกิดจากภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์และอัตราการเต้นของหัวใจสูงที่เกิดจากความเหนื่อยล้าหลังการฝึกซ้อมทั่วไปนั้นมาจากกลไกในร่างกายที่แตกต่างกัน อัตราการเต้นของหัวที่สูงขึ้นจากภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์นั้นเกิดจากการที่ไทรอยด์หลั่งฮอร์โมนออกมามากเกินปกติ การใช้ยาควบคุมเป็นหนทางเดียวที่จะฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาสู่ภาวะปกติโดยใช้เวลาสั้นๆ แต่ในกรณีของอัตราการเต้นของหัวใจที่สูงขึ้นหลังการฝึกซ้อมนั้น ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากความต้องการออกซิเจนที่มากขึ้นของร่างกาย กลยุทธ์การดูแลร่างกายที่เหมาะสมจะทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนขึ้นในระยะเวลาเพียงสั้นๆ ย้อนกลับไปตอนที่ร่างกายของผมมีอาการผิดปกติ อัตราการเต้นของหัวใจขณะพักอยู่ที่ประมาณ 78 – 85 ครั้งต่อนาที ซึ่งสูงกว่าค่าปกติของคนที่มีสุขภาพดีที่จะมีค่าอยู่ที่ประมาณ 42 – 46 ครั้งต่อวินาทีเกือบ 50% อัตราการเต้นของหัวใจที่สูงเช่นนี้จะส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพในการออกกำลังกาย อาการที่ชัดเจนที่สุดคือ “อาการหอบ” และเป็นการหอบที่ทำให้คุณรู้สึกเหมือนกำลังหายใจไม่ทัน

ผมเป็นคนที่หัวดื้อมาก แม้ร่างกายจะอยู่ในสภาพนี้ แต่ก็ยังอยากที่จะลองสู้ต่อ อยากจะรู้ว่าขีดจำกัดของตัวเองอยู่ตรงไหน ผมจำได้ว่าครั้งหนึ่งในการฝึกซ้อมวิ่ง เราวิ่งขึ้นเนิน 200 เมตร ด้วยความเร็วสุดกำลัง ทั้งหมด 3 ครั้ง ทันทีที่การวิ่งนั้นสิ้นสุดลง ผมก็รู้สึกเหมือนนักบินอวกาศที่มาเหยียบดวงจันทร์โดยไม่ใส่หน้ากากออกซิเจน ร่างกายของผมขาดออกซิเจนจนเวียนหัว นอนนิ่งแบบลุกไม่ขึ้นอยู่นาน ซึ่งนี่เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีจริงๆ ไม่ควรลอกเลียนแบบเป็นอันขาด

อัตราการเต้นของหัวใจสูงอย่างต่อเนื่องที่เกิดจากภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์จะทำให้หัวใจของคุณต้องทำงานอย่างหนัก ไม่ว่าเราจะออกกำลังกายอย่างเป็นประจำหรือไม่ก็ตาม เราควรสร้างความเคยชินในการเฝ้าติดตามอัตราการเต้นของหัวใจและสังเกตการเปลี่ยนแปลงของอัตราการเต้นของหัวใจขณะพักเฉลี่ยของแต่ละวันในสัปดาห์ เพื่อทำความเข้าใจสภาพร่างกายในขณะนั้นและเรียนรู้ว่าจิตใจสามารถส่งผลต่อร่างกายขณะออกกำลังกายได้อย่างไรบ้าง ซึ่งจะช่วยให้เราค้นพบรูปแบบการออกกำลังกายและการปรับตัวที่เหมาะสมระหว่างเผชิญภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์

เรียนรู้เพิ่มเติม: ความสำคัญของการติดตามอัตราและจังหวะการเต้นของหัวใจที่ส่งผลต่อสุขภาพของนักวิ่งเทรล

2. เพิ่มสัดส่วนของการฝึกซ้อมเพื่อความแข็งแรง

ภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์ส่งผลให้ระบบเมตาบอลิซึมของเราทำงานมากเกินปกติ ซึ่งจะทำให้อัตราการเผาผลาญพื้นฐานสูงขึ้น และทำให้ร่างกายสูญเสียมวลกล้ามเนื้อไปอย่างรวดเร็วกว่าปกติ หากคุณยังคงหวังที่จะกลับสู่สนามอย่างสุขภาพดีหลังฟื้นตัวแล้ว เราแนะนำให้หมั่นฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อต่อไปเพื่อรักษามวลกล้ามเนื้อเอาไว้ พร้อมเสริมสารอาหารกลุ่มวิตามินบีและโปรตีนคุณภาพสูงเพื่อช่วยสร้างกล้ามเนื้อและตอบสนองต่อการเผาผลาญพลังงานของร่างกายที่เพิ่มมากขึ้น ความถี่การฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่แนะนำคือ 2 – 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ไม่แนะนำให้เพิ่มความเสี่ยงด้วยการเล่นเวทหนักๆ การเล่นฟรีเวทผ่านเคทเทิลเบลล์และดัมเบลก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ดีเช่นกัน ไม่ต้องตึงเครียดกับระยะเวลาในการพักระหว่างเซ็ต สิ่งที่สำคัญที่สุดในช่วงนี้คือการฟื้นตัวและการเคลื่อนไหวของสรีระที่ถูกต้อง

3. หมั่นเติมเกลือแร่ให้กับร่างกาย

โรคเกรฟส์อาจทำให้โพแทสเซียมไอออนในเลือดต่ำลงและเกิดความไม่สมดุลของปริมาณเกลือแร่ในร่างกาย นอกจากนี้ร่างกายของผู้ที่มีภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์จะตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมที่ร้อนได้ไว้กว่าปกติ จากประสบการณ์ผม การบริโภคเกลือแร่ก่อนและระหว่างออกกำลังกายไม่ได้มีส่วนช่วยในการป้องกันการเป็นตะคริวมากนัก หากพบว่าในสภาพอากาศร้อนชื้น สภาพของร่างกายของคุณเริ่มไม่ค่อยดี ความเข้มข้นของการออกกำลังกายเริ่มสูงขึ้น ระยะเวลาในการออกกำลังกายเริ่มนานกว่าปกติ หรือเป็นตะคริวได้ง่าย คุณควรแจ้งให้แพทย์ทราบ และเจาะเลือดเพื่อตรวจสอบความเข้มข้นของโพแทสเซียมในเลือด แล้วคุณจะพบคำตอบที่ชัดเจนยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ในขณะที่เหงื่อออกมากๆ คุณจะสูญเสียเกลือแร่อย่างรวดเร็ว ดังนั้นจึงควรให้ความสนใจเป็นพิเศษกับการเติมเกลือแร่เข้าสู่ร่างกาย

4. ละทิ้งการเอาชนะและหันมาสนุกกับการออกกำลังกาย

การเกิดภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์คือ “ผล” และมักจะมี “สาเหตุ” มาจากความตึงเครียดทางอารมณ์ ดังนั้นหากการออกกำลังกายนั้นเป็นการเพิ่มความเครียด มันจะไม่ยิ่งทำให้อาการของคุณแย่ลงหรือ ?

ในช่วงที่มีภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์ ธรรมชาติได้ช่วยพาผมก้าวผ่านช่วงที่ลำบากที่สุด เพราะเมื่อผมเดินทางมาสู่ภูเขา ผมสามารถละทิ้งความหลงใหลในการ “วิ่ง” และเหลือไว้เพียงแต่ความเพลิดเพลินกับความสงบของการเดินและอยู่คนเดียวบนเส้นทางภูเขา ผมพบว่าผมสามารถไปได้ไกลกว่าในสนามกีฬาหรือถนนสำหรับการแข่งขัน เพราะ ณ เวลานั้น ผมแทบจะไม่สามารถวิ่ง 4K ในสนามกีฬาได้เลย แต่ผมกลับสามารถผจญภัยระยะทาง 10K บนภูเขาได้สำเร็จ ซึ่งมันเป็นเหมือนพลังใจที่เข้ามาบรรเทาความทุกข์ของผมให้ลดลง ในช่วงที่ต้องเผชิญกับภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์ ความเพลิดเพลินในการออกกำลังกายจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

ภาพจาก: Run your pace Run your race

5. การทำสมาธิ

เมื่อฤดูหนาวมาถึง สภาพอากาศก็เปลี่ยนไป และอาการของภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์ของผมก็ดีขึ้นมากเช่นกัน ไม่ว่าจะเจอปัญหาอะไรในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา ผมก็ยังยืนกรานที่จะวิ่งต่อไป ผมตัดสินใจลงสมัครแข่งขัน Taipei Marathon เพื่อเป็นการสรุปภาพรวมของตัวผมในปีนี้ ไม่ว่าผลที่ออกมาจะดีหรือร้าย มันก็มีความหมายมากๆ สำหรับผม

คืนก่อนการแข่งขันที่ผมนอนไม่หลับ “อีกแล้ว”

อาการนอนไม่หลับเป็นเรื่องปกติสำหรับผู้ที่มีภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์ และสาเหตุหลักมักมาจากอารมณ์ที่ขึ้นๆ ลงๆ มีอยู่เหตุการณ์หนึ่งที่ผมจำได้ไม่ลืมคือ วันนั้นก่อนเข้านอน ไม่รู้ผมคิดอะไรอยู่ถึงได้เปิดดูการ์ตูนแอนิเมชั่นที่เคยดูตอนเด็กๆ เรื่อง “สุสานหิ่งห้อย” อีกครั้ง เนื้อหามันทำให้ผมรู้สึกหดหู่มากๆ วันนั้นผมพลิกตัวไปมาจนถึงตีสามถึงจะนอนหลับลงได้

หลังจากมีอาการนอนไม่หลับหลายครั้ง คราวนี้ผมจึงต้องเตรียมตัวให้ดีขึ้น ใส่หูฟัง และเปิดฟัง “Medi Journey” ซึ่งเป็นช่องโปรดของผม เพื่อเริ่ม “การทำสมาธิแบบมีเสียงนำ (Guided Meditation)” การศึกษาทางวิทยาศาสตร์จำนวนมากยืนยันว่าการทำสมาธิสามารถช่วยส่งเสริมการนอนหลับลึกและช่วยร่างกายให้ฟื้นตัวได้ดีขึ้น การทำสมาธิมีหลายประเภท ผู้เริ่มต้นหรือคนที่มีความคิดแล่นไปมาในหัวตลอดเวลาแบบผมเหมาะที่จะเข้าสู่สภาวะผ่อนคลายด้วยการทำสมาธิแบบมีเสียงนำและปฏิบัติตามแนวทางที่ผู้สอนแนะนำ ซึ่งมันก็ทำให้ผมเผลอหลับไปโดยไม่รู้ตัว ถึงแม้ว่าระยะเวลานอนจะไม่ต่อเนื่องนานนัก แต่เพราะพลังงานที่ได้จากการนอนหลับลึก สภาพจิตใจเมื่อตื่นนอนในตอนเช้าตรู่ของผมจึงไม่เลวเลย หลังจากจัดอุปกรณ์สำหรับการแข่งขันและสวดมนต์ขอพรเรียบร้อย ผมก็ลุกขึ้นแล้วมุ่งหน้าไปยังศาลาว่าการเมืองไทเป ในตอนท้าย ผมจบการแข่งขันด้วยระยะเวลา 3 ชั่วโมง 11 นาที เมื่อนำไปเทียบกับ 5 ชั่วโมงในการวิ่งมาราธอนบนภูเขาอาลีซานที่เป็นประสบการณ์อันน่าสลดใจที่สุดในชีวิตของผมเมื่อเดือนก่อนหน้า ก็นับเป็นผลงานที่น่าพึงพอใจมาก และผมยังได้แจ้งให้ทุกคนทราบด้วยว่าผมกำลังค่อยๆ ตื่นจากฝันร้ายที่เกิดจากภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์

6. กินยาอย่างสม่ำเสมอและพบแพทย์ให้ตรงเวลา

ประสบการณ์การใช้ยาของผมนั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงไปมาอยู่เสมอ ก่อนที่จะหาสาเหตุที่แท้จริงเจอ ผมได้ไปพบแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจก่อน เนื่องจากปัญหาความดันโลหิตสูงและภาวะหัวใจโต แพทย์จึงสั่งยาให้ แต่ผลจากการรักษากลับแย่ลงกว่าเดิม เช้าวันนั้น ผมต้องพาคนขึ้นเขาเพื่อไปถ่ายวิดีโอ ก่อนเริ่มออกเดินทาง ผมได้กินยาลดความดันโลหิตตามคำแนะนำของแพทย์ วันนั้นผมเกือบต้องทิ้งชีวิตไว้บนเขาแล้ว ผมรู้สึกเวียนหัวไปหมด หลังจากที่พบว่าสาเหตุเกิดมาจากภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์ ผมก็หยุดยาความดันโลหิตและยารักษาโรคหัวใจทันที ซึ่งนั่นก็เป็นเวลาหลายเดือนต่อมา หลังจากเหตุการณ์นั้น ผมก็มีภาพจำที่ไม่ดีเกี่ยวกับผลข้างเคียงของยาตะวันตก และมันทำให้ผมเกิดความรู้สึกต่อต้านการกินยาตะวันตก ซึ่งหลังจากวินิจฉัยพบภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์แล้ว ผมก็ยังคงมีนิสัยกินยาที่ไม่สม่ำเสมอ กินบ้างไม่กินบ้าง แถมยังได้ทดลองด้วยตัวเองเพื่อดูความแตกต่างของการฝึกซ้อมในระหว่างการกินยากับการไม่กินยา และผลที่ได้ก็คือสภาพร่างกายที่ไม่เสถียร อัตราการเต้นของหัวใจมักจะสูงขึ้นเองอย่างรวดเร็ว กล้ามเนื้อก็เป็นตะคริวง่าย(เพราะร่างกายขาดเกลือแร่) หลังจากทดลองด้วยตัวเองสักพัก ผมจึงตัดสินใจอย่างแน่วแน่ว่าจะกินยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด อันที่จริง ผลข้างเคียงของยารักษาโรคเกรฟส์ส่วนใหญ่จะจากเกิดขึ้นในผู้ป่วยที่มีอาการภูมิแพ้ผิวหนัง มีอาการคัน และมีเพียงไม่กี่รายที่อาจทำให้จำนวนเม็ดเลือดขาวต่ำลงและส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งสามารถกล่าวโดยสรุปได้ว่า ไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม คุณควรปรึกษาแนวทางการรักษากับแพทย์ของคุณ

และแล้วบทความนี้ก็ได้มาถึงช่วงสุดท้าย และก็เป็นเวลาหนึ่งปีครึ่งแล้ว ตั้งแต่ผมเริ่มมีอาการจากโรคนี้ ตอนนี้ค่าต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์ของผมค่อนข้างคงที่ และผมก็กลับมาฝึกซ้อมได้ระยะหนึ่งแล้ว ผมสามารถหายใจได้ตามปกติ ผมมีความสุขจริงๆ ผมย้อนกลับไปคิดว่า ถ้าไม่ใช่เพราะผมมีความเคยชินกับการออกกำลังกายเป็นประจำมาอย่างยาวนานควบคู่กับการมีโอกาสได้ใช้งานสมาร์ทวอทช์ ผมคงไม่สามารถตรวจพบความแปรปรวนของอัตราการเต้นของหัวใจได้อย่างทันท่วงที ซึ่งในการตรวจพบครั้งนี้ทำให้ผมเจอภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์ที่เป็นสาเหตุหลักของปัญหาได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ดังนั้นไม่ว่าเป้าหมายในชีวิตของคุณจะเป็นอย่างไร หากคุณใส่ใจในสุขภาพของคุณ จงอย่าหยุดออกกำลังกาย เพราะมันมีส่วนช่วยให้เรารู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงในร่างกายได้ไวมากขึ้น ถ้าอย่างนั้นการออกกำลังกายถือเป็นสิ่งจำเป็นในช่วงที่มีภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์ (โรคเกรฟส์) หรือไม่ ? ความคิดเห็นส่วนตัวของผมคือ ถ้าคุณมีโรคประจำตัวที่ทำให้คุณรู้สึกหงุดหงิดและหดหู่หากไม่ออกกำลังกายแบบผม การออกกำลังกายที่เหมาะสม มีการติดตาม การบันทึกและการวิเคราะห์ จะมีผลเชิงบวกต่อการรักษาในระยะยาว การพัฒนาในระยะยาวก็จะเป็นไปในเชิงบวกเช่นกัน และสิ่งสำคัญที่ผมต้องเน้นย้ำจากประสบการณ์ที่ผ่านมาคือ มันเป็นเรื่องยากมากที่ร่างกายจะฟื้นตัวกลับมาโดยใช้การออกกำลังกายและไม่ใช้ยาใดๆ เลย พระเจ้าได้ประทานร่างกายที่ฟื้นฟูกลับสู่ภาวะปกติได้เองให้กับเรา และยังได้ออกแบบ “ค่าวิกฤต” ไว้ในส่วนต่างๆ บนร่างกายของเรา เมื่อเรานอนหลับ ออกกำลังกาย และรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพอย่างเหมาะสม คะแนนทางสุขภาพก็จะสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่หากคุณผลาญมันตามอำเภอใจ คะแนนจะหายไป “อย่างเงียบๆ” จนต่ำกว่าค่าวิกฤตและเข้าสู่โหมด “โรค” ที่จะต้องใช้ความพยายามอย่างมากเพื่อที่จะกลับคืนสู่ค่าปกติ และอาจถึงกับย้อนกลับคืนมาไม่ได้ในบางสถานการณ์ ในฐานะนักกีฬาและผู้ฝึกสอน เราสนับสนุนให้ทุกคนเตรียมพร้อมและเปิดรับทุกการผจญภัย พร้อมทั้งต้องเรียนรู้ที่จะฟังเสียงและปฏิกิริยาต่างๆ ของทั้งร่างกายและจิตใจตลอดเวลา นี่จึงเป็นเหมือนบทเรียนที่เราต้องฝึกฝนกันไปตลอดชีวิต